วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้

ประไพ ฉลาดคิด (2548: 4-5) ได้กล่าวองค์ประกอบของการเรียนรู้ไว้ดังนี้ ลองจินตนาการเป็นภาพต่อไปนี้ ในการสอนแต่ละครั้งเมื่อผู้สอนเข้ามาในชั้นเรียนน่าจะมีกิจกรรมการเรียนการสอนเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าในห้องเรียนนั้นคงไม่ใช่ห้องเรียนที่ว่างเปล่า แต่ควรมีองค์ประกอบต่อไปนี้ในชั้นเรียน
            1.ผู้สอน ผู้สอนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งต่อการสอน เพราะต้องเป็นผู้รู้หลักสูตรและนำเนื้อหาสาระมาดำเนินการสอน มีการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ตลอดเวลาของการเรียนการสอน โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในบทเรียน มีทักษะกระบวนการ และมีเจตคติที่ดีตามเจตนารมณ์ของบทเรียนและหลักสูตร นอกจากนั้นครูยังต้องมีความสามารถใช้สื่อประกอบการสอน และสอนให้ตรงตามจุดประสงค์ที่ได้วางไว้ทำให้การสอนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
            2. ผู้เรียน ผู้เรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสอน เพราะการสอนจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีผู้เรียนเป็นผู้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ต่างๆ ที่ผู้สอนจัดให้ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามจุดประสงค์ของการสอนที่ตั้งไว้
            3. กิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนเป็นองค์ประกอบอีกประการหนึ่ง ที่มีความสำคัญมากต่อการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนนั้นออกแบบโดยผู้สอนและผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ มีการวัดผลและประเมิลผลตามที่ผู้สอนได้วางแผนไว้
            4. บริบทในการเรียนการสอน ในการสอนที่ต้องการให้เกิดผลที่ดีทั้งต่อผู้สอนและผู้เรียนนั้น สภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียนก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันได้แก่ ความเหมาะสมของสีในห้องเรียน การถ่ายเทของอากาศ ทิศทางลม เสียงรบกวนจากภายนอกห้องเรียน เช่น เสียงรถยนต์วิ่งผ่านไปมา กลิ่นเหม็นจากตลาดสด เป็นต้น

เอกศักดิ์ บุตรลับ(2537 : 210) ได้กล่าวองค์ประกอบการเรียนรู้ไว้ว่า องค์ประกอบที่เป็นตัวป้อนในระบบการเรียนการสอน ได้แก่ ครู นักเรียน บุคลากรในโรงเรียนอื่นๆ หลักสูตร และสิ่งแวดล้อมทางการเรียน
            1.ครู เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
            2.เรียน เป็นองค์ประกอบทีมีความสำคัญและจะขาดมิได้ เพราะถ้าหากไม่มีผู้เรียนแล้ว การสอนก็จะไม่เกิดขึ้น
            3.หลักสูตร เนื่องจากหลักสูตรเป็นสื่อกลางที่จะนำนักเรียนไปสู่จุดหมายปลายทางทีสังคมได้คาดหวังไว้ ดัง
            4.สิ่งแวดล้อมทางการเรียน ได้แก่ การจัดห้องเรียน การจัดเวลาเรียน การเลือกแหล่งวิทยาการ และการบริการสนับสนุนการเรียนการสอน

Ning_sced (http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.html) ได้กล่าวองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ไว้ดังนี้
1. ผู้สอน เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการที่จะแปลมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ที่เป็นตัวหนังสือให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม น่าสนใจ และมีกระบวนการเรียนรู้หลากหลายวิธีอย่างอิสระ จะต้องรู้จักเลือกปรับปรุงเทคนิคและวิธีการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียนโดยไม่ใช้วิธีการเดียว ควรมีการดัดแปลงและเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาในแต่ละเรื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
2. ผู้เรียน เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งบุคลิกภาพ สติปัญญา ความถนัด ความสนใจและความสมบูรณ์ของร่างกาย ผู้เรียนควรมีโอกาสร่วมคิด ร่วมวางแผนในการจัดการเรียนการสอน และมีโอกาสเลือกวิธีเรียนได้อย่างหลากหลาย ตามความเหมาะสมภายใต้การแนะนำของผู้สอน
3. เนื้อหาวิชาต่างๆ ซึ่งผู้สอนจะต้องจัดเนื้อหาวิชาให้มีความสัมพันธ์กัน มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมของการจัดการเรียนรู้
4. สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ ผู้สอนต้องมีวิธีการที่จะจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางวิชาการ เช่น จัดห้องชวนคิด ห้องกิจกรรมวิทยาศาสตร์ จัดระบบนิเวศจำลอง จัดบริเวณโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางชีววิทยา ธรณีวิทยา ฯลฯ มีการดัดแปลงห้องเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ดี และจัดกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย


สรุปองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้
            องค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย
                 1.ครูผู้สอน
เป็นองค์ประกอบที่ในการเรียนการสอน เพราะเป็นคนถ่ายทอดและให้คำแนะนำกับผู้เรียน
                 2.ผู้เรียน เป็นองค์ประกอบทีมีความสำคัญและจะขาดมิได้ เพราะถ้าหากไม่มีผู้เรียนแล้ว การสอนก็จะไม่เกิดขึ้น
                 3.เนื้อหาวิชาต่างๆ ซึ่งผู้สอนจะต้องจัดเนื้อหาวิชาให้มีความสัมพันธ์กัน มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมของการจัดการเรียนรู้
                 4.สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                 5.สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ ผู้สอนต้องจัดการภายในห้องเรียนให้น่าอยู่ ให้เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนรู้

ที่มา
ประไพ ฉลาดคิด. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: เกษมศรี ซี.พี.
เอกศักดิ์ บุตรลับ.(2537).ครูและการสอน.เพชรบุรี:สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.
Ning_sced.[Online].http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.html ลักษณะของการจัดการเรียนรู้ –
            สารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพ
.
เข้าถึงเมื่อ 13 กรกฎาคม 2558.

รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบหน่วย

            ดวงเดือน เทศวานิช (2529 : 120) ได้กล่าวไว้ว่า การสอนแบบหน่วย หมายถึงการสอนที่นำเอาเนื้อหาวิชาหลายวิชามาสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน โดยมีวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นแกนหลัก เรียกว่าหน่วย
            
            ชนิดของหน่วย หน่วยแบ่งออกเป็น 4 ชนิดดังนี้
1.หน่วยเนื้อหา คือหน่วยที่มุ่งเอาเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลางของหน่วยถือหนังสือเรียนหรือตำราเป็นแหล่งวิชาที่สำคัญที่สุดในการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ผู้เรียนได้รับความรู้ในการค้นคว้าจากหนังสือ ใช้เวลาในการสอนหน่วยหนึ่งไม่มากนัก เพราะผู้สอนเป็นผู้นำในการเลือกหน่วย วางโครงการ วางแผนงานและทำงาน เช่น หน่วยเรื่องความสะอาด เป็นต้น
2.หน่วยประสบการณ์ คือหน่วยที่มุ่งเอาประสบการณ์ในชีวิตของผู้เรียนเป็นหลัก เพราะเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจที่เรียนรู้ ผู้สอนและผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกหน่วยงานและวางแผนงาน การวางแผนงานควรให้ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ผู้สอนควรคำนึงถึงระดับชั้น ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่นหน่วยเรื่อง อาชีพของคนไทย
เป็นต้น
3.หน่วยกิจกรรม คือหน่วยงานที่มุ่งเอากิจกรรมเป็นหลัก ผู้สอนจะต้องพิจารณาถึงความสนใจ ความต้องการ ความสามารถ และวุฒิภาวะของผู้เรียนแต่ละคน แต่ละวัย เพื่อเลือกกิจกรรมที่สนองความต้องการของผู้เรียนในระดับนั้น ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกกิจกรรมและวางแผนที่จะแก้ปัญหา เช่นหน่วยเรื่อง การรักษาความสะอาดภายในบ้านและโรงเรียน” “การปรับปรุงโรงเรียนของเราเป็นต้น
4.หน่วยวิทยาการ คือหน่วยงานที่รวบรวมปัญหาตลอดจนกิจกรรมและประสบการณ์ต่างๆสำหรับผู้เรียนไว้โดยมูลแล้ว เพื่อให้นำไปใช้สอนได้ เช่นหน่วยเรื่อง ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เป็นต้น

ขั้นตอนของการสอนแบบหน่วย
การสอนแบบหน่วย แบ่งออกเป็น 5 ขั้นดังนี้
       1.ขั้นนำเข้าสู่หน่วย (Introduction or approach period) เป็นการสำรวจความต้องการ ความสนใจ ให้ผู้เรียนเข้าใจจุดมุ่งหมายของหน่วย โดยเร้าให้ผู้เรียนสนใจบทเรียนด้วยวิธีต่างๆ เช่นการสนทนาหรืออภิปรายปัญหา การแนะนำหนังสือให้อ่าน การไปศึกษานอกสถานที่ การไปชมนิทรรศการ การฉายภาพยนตร์ ให้ผู้เรียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง ให้อ่านหนังสือพิมพ์หรือวารสาร ฯลฯ เพื่อนำเข้าสู่ปัญหาที่จะเรียน ผู้สอนมีหน้าที่ชี้ทางให้ผู้เรียนเห็นปัญหา
จัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหาและตั้งความมุ่งหมายในการแก้ปัญหา ขั้นนี้จบลงด้วยการช่วยกันตั้งชื่อหน่วย พร้อมกับรวบรวมปัญหาย่อยๆทั้งหมด
       2.ขั้นผู้สอนและผู้เรียนวางโครงการร่วมกัน (Pupil-teacher planning period) เมื่อได้ชื่อหน่วยและปัญหาย่อยๆแล้ว ผู้สอนและผู้เรียนวางแผนร่วมกันเพื่อที่จะแก้ปัญหา โดยช่วยกันตั้งความมุ่งหมายทั่วไป และความมุ่งหมายเฉพาะตั้งปัญหา แบ่งปัญหาออกเป็นหัวข้อย่อยๆประมาณ 4-6ข้อ ให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มและเลือกหัวข้อที่จะทำ ต่อไปก็มีการประชุมกลุ่มย่อย และรายงานผลการประชุม ผู้สอนมีหน้าที่ช่วยผู้เรียนวางแผนแก้ปัญหา มอบหมายงานให้ผู้เรียนแต่ละหมู่รับผิดชอบ ทำงานตามความสามารถและความสนใจ แนะนำให้ผู้เรียนรู้จักแหล่งวิชาที่จะเป็นประโยชน์แก่การแก้ปัญหา
       3.ขั้นดำเนินงาน (Working period) ผู้เรียนจะค้นคว้าหาความรู้ ทำงานและทดลอง เป็นขั้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ผู้สอนมีหน้าที่ช่วยเหลือให้คำแนะนำเมือมีปัญหา ให้เข้าใจปัญหา รู้จักแหล่งวิชาที่ใช้แก้ปัญหาให้รับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายและทำงานอย่างมีหลักเกณฑ์ ช่วยให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้โดยการไปสัมภาษณ์ ศึกษานอกสถานที่ เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ ค้นคว้าจากห้องสมุด ประดิษฐ์สิ่งต่างๆเช่นปั้น วาด เป็นต้น ขั้นนี้แบ่งเป็น 2 ประการดังนี้
            (1) การสำรวจและรวบรวมความรู้ต่างๆจากห้องสมุด หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เอกสารต่างๆ ภาพยนตร์ ภาพนิ่ง วิทยากร สังคม และธรรมชาติ
            (2) ความสัมพันธ์กับวิชาต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ ศิลปะ
       4. ขั้นเสนอกิจกรรม (Culmination activity) เป็นการสรุปรวบรวมความรู้เข้าด้วยกันและเสนอผลงานซึ้งเป็นกิจกรรมที่แสดงออกในทางสร้างสรรค์ เช่น รายงานปากเปล่า อ่านรายงาน อภิปราย ทำสมุดภาพ แสดงละคร จัดนิทรรศการ ฯลฯ
       5.ขั้นประเมิลผล (Evaluation) เมื่อผู้เรียนแสดงผลงานเสร็จแล้ว ผู้สอนควรประมวลความรู้ที่ได้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน นำมาจัดลำดับแสดงความสัมพันธ์ของความรู้และอาจเพิ่มเติมความรู้ที่ยังขาดให้ด้วย แล้วทำการประเมินผลจากการวัดด้านต่างๆดังนี้
            (1) วัดความรู้ทางวิชาการ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ทักษะต่างๆและความสามารถในการค้นคว้า เป็นต้น โดยทำการสัมภาษณ์หรือให้ทำข้อทดสอบ
            (2) วัดความสามารถต่างๆ เช่น ความสามารถในการทดลอง การทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยการสังเกตพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกมาขณะกำลังทำงาน
            (3) วัดเจตคติ เป็นการวัดทางด้านความรู้สึกนึกคิด เช่นมีความรู้สึกที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานหรือไม่ มีความสนใจทำการค้นคว้าทดลองเพิ่มขึ้นหรือไม่ ฯลฯ โดยการสังเกตหรือสัมภาษณ์
            (4) วัดคุณลักษณะส่วนตัว เช่นการทำงานร่วมกับผู้อื่น การเป็นผู้นำความคิดริเริ่มความรับผิดชอบ ใจกว้างพอที่จะยอมรับคำวิจารณ์ ฯลฯ โดยการสังเกต สัมภาษณ์ ใช้แบบสอบถาม           

            สุชา จันทน์เอม (2521 : 170) ได้กล่าวไว้ว่า ในการสอนแบบหน่วย หมายถึงการสอนการเรียนเป็นส่วนรวม โดยนำความรู้ต่างๆมาสัมพันธ์กัน เพื่อช่วยในการแก้ปัญหา ขอบเขตของกิจกรรมและประสบการณ์อาจจะมากน้อย ขึ้นอยู่กับอายุและชั้นเรียนของเด็ก
            
             ชนิดของหน่วย
1.หน่วยเนื้อหาวิชา เป็นหน่วยที่มุ่งเอาเนื้อหาวิชาเป็นหลัก ครูเป็นผู้นำในการเลือกหน่วยวางแผน และการทำงาน
2. หน่วยประสบการณ์  มุ่งเอาประสบการณ์ของเด็กเป็นหลัก ยึดความสนใจของเด็กเป็นสำคัญ เด็กและครูร่วมมือกันเลือกหน่วยและวางแผนงาน
3.หน่วยกิจกรรม มุ่งกิจกรรมเป็นหลัก กิจกรรมนั้นต้องสนองความสนใจ ความต้องการและความสามารถของเด็ก เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกหน่วยด้วย
4.หน่วยวิทยากร คือ หน่วยรวบรวมปัญหา ตลอดจนกิจกรรมและประสบการณ์
            ขั้นการสอน
ขั้นที่ 1 การสอนเพื่อเร้าความสนใจ และมองเห็นปัญหา ครูเร้าความสนใจเด็ก โดยการสนทนา การอภิปราย หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ
ขั้นที่ 2 นักเรียนและครูร่วมกันวางแผนงาน
ก.     การวางแผนงานส่วนใหญ่ คือการแบ่งแยกปัญหาใหญ่เป็นปัญหาย่อย
ข.     การวางแผนงานโดยละเอียด ปัญหาย่อยทุกๆปัญหาจัดให้มีกิจกรรมให้เหมาะกับเนื้อหาวิชา
ค.     การจัดแบ่งนักเรียนออกเป็นหมู่ และรับเอาปัญหาย่อยไปช่วยกันแก้
ขั้นที่ 3 นักเรียนลงมือทำงานตามแผนงานในขั้นที่ 2 เช่น ค้นคว้า สำรวจ ศึกษานอกสถานที่ สัมภาษณ์ ฯลฯ
ขั้นที่ 4 การรายงานผลงานต่อชั้น แต่ละหมู่รายงานผลที่ได้ปฏิบัติต่อชั้นครูต้องคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา นักเรียนอาจจะมีการซักถาม โต้ตอบกันเอง

ขั้นที่ 5 การวัดผลเป็นการตรวจสอบดูว่า การเรียนของนักเรียนได้ผลเพียงใด การวัดผลหลายๆด้าน เช่น ความรู้ความเข้าใจ ทักษะในการแก้ปัญหา ทัศนคติ ความคิดริเริ่ม การฝึกประชาธิปไตย ฯลฯ
             http://www.neric-club.com/data.php?page=4&menu_id=76  ได้รวบรวมวิธีการสอนแบบหน่วยไว้ว่า วิธีสอนแบบหน่วย (Unit Teaching Method) เป็นวิธีการสอนที่นำเนื้อหาวิชาหลายวิชามาสัมพันธ์กัน โดยไม่กำหนดขอบเขตของวิชา แต่ยึดความมุ่งหมายของบทเรียนที่เรียกว่า “หน่วย” นักเรียนอาจเรียนหลายๆวิชาพร้อมๆกันไปตามความต้องการและความสามารถของนักเรียน
 ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบหน่วย
1. เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติการศึกษาค้นคว้าหาความรู้และแก้ปัญหาด้วยตนเอง
2. เพื่อส่งเสริมการทำงานที่เป็นประชาธิปไตย ได้แก่ นักเรียนร่วมกันปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปฏิบัติงานและแก้ปัญหาร่วมกัน
 ขั้นตอนของวิธีการสอนแบบหน่วย
            1.ขั้นนำเข้าสู่หน่วย ขั้นตอนนี้ครูเป็นผู้เร้าความสนใจของนักเรียนด้วยการนำหนังสือที่น่าสนใจหรือสนทนาพูดคุยหรือเล่าเรื่องหรืออภิปรายหรือพาไปทัศนศึกษา หรือชมนิทรรศการ หรือชมภาพยนตร์ หรือชมวีดีทัศน์ ฯลฯ
            2.ขั้นนักเรียนและครูวางแผนร่วมกันในการปฏิบัติกิจกรรม เริ่มด้วยการกำหนดความมุ่งหมายทั่วไป ความมุ่งหมายเฉพาะ ช่วยกันตั้งปัญหาและแบ่งหัวข้อปัญหา กำหนดกิจกรรมของแต่ละปัญหากำหนดสื่อการสอนที่จะนำไปใช้แก้ปัญหา แล้วจัดแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อทำกิจกรรม และรายงานผลการปฏิบัติงาน
            3.ขั้นลงมือทำงาน เริ่มต้นด้วยการสำรวจและรวบรวมความรู้ต่างๆจากห้องสมุดพิพิธภัณฑ์ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร เอกสาร แบบเรียน ตำรา ร้านค้า ภาพยนตร์ ความสัมพันธ์กับวิชาต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลป์ ฯลฯ
            4.ขั้นเสนอกิจกรรม ได้แก่ การเสนอกิจกรรมด้วยการรายงานผลการปฏิบัติงานโดยวาจาหรือรายงานผลเป็นข้อเขียน การอภิปราย การแสดงละคร การจัดนิทรรศการ การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการเสนอกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์แบบอื่นๆ
            5.ขั้นประเมินผล เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานตามขั้นตอน และจุดประสงค์ของหน่วยโดยพิจารณาความรู้เชิงวิชาการ เจตคติ และความสนใจต่างๆ รวมทั้งคุณสมบัติส่วนตัว เช่น คุณสมบัติด้านการเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย การแสดงความคิดเห็นต่อกลุ่ม และยอมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่ม

ข้อดีของวิธีสอนแบบหน่วย
1. เป็นวิธีการสอนที่ส่งเสริมความถนัดตามธรรมชาติของนักเรียน เพราะการสอนแบบนี้มีกิจกรรมหลายประเภทให้นักเรียนได้เลือกปฏิบัติทำตามที่ถนัดและสนใจ
2. นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการเรียนร่วมกับครู
3. นักเรียนได้รับการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย และได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม
4. เป็นการสอนที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างวิชาต่างๆในหลักสูตร

ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบหน่วย
1. วิธีสอนแบบนี้ต้องใช้เวลามาก
2. ครูผู้สอน ต้องมีแหล่งความรู้ให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างเพียงพอ และหลากหลาย


สรุป
            วิธีการสอนแบบหน่วย เป็นการสอนที่นำเนื้อหาหลายๆวิชามาสัมพันธ์กันเป็นเรื่องเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อนักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า แก้ปัญหาด้วยตนเอง และส่งเสริมการทำงานที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งวิธีการสอนแบบหน่วยจะมี 4 ชนิดคือ หน่วยเนื้อหาวิชา หน่วยประสบการณ์  หน่วยกิจกรรม และหน่วยวิทยากร มีขั้นตอนในการสอนดังนี้ ขั้นนำเข้าสู่หน่วย  ขั้นนักเรียน ครูวางแผนร่วมกันในการปฏิบัติกิจกรรม  ขั้นลงมือทำงาน ขั้นเสนอกิจกรรม   และขั้นประเมินผล

ที่มา
ดวงเดือน เทศวานิช.(2529).หลักการสอนและการเตรียมประสบการณ์วิชาชีพภาคปฏิบัติ. 
            กรุงเทพฯ
:คณะวิชาครุศาสตร์ วิทยาลัยครูพระนคร.
สุชา จันทน์เอม
.(2521).จิตวิทยาในห้องเรียน.กรุงเทพฯ:พีระพัธนา.
http://www.neric-club.com/data.php?page=4&menu_id=76วิธีการสอนแบบหน่วย.เข้าถึงเมื่อ  
            12 กรกฎาคม 2558.

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญของการเรียนรู้

            ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2546 : 29) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การดำรงชีพของเราในปัจจุบัน ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบเพื่อเราเองจะอยู่อย่างมีความสุขตามสภาพแวดล้อมของตน ส่วนหนึ่งของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมนั้นคือ การเรียนรู้
           

          พงษ์พันธ์  พงษ์โสภา (2542 : 78) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้จะช่วยให้คนเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือสามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเราได้เหมาะสม
           

           วารินทร์ สายโอบเอื้อ (2529 : 41) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้มีความสำคัญยิ่งต่อพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ โดยเฉพาะคนเราเกิดมาจะต้องพบกับเหตุการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตลอดชีวิตของคนเรานั้น มีการเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เช่น เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา เวลาหิว เวลาหนาว เรียนรู้นิสัยต่างๆในการดำรงชีวิต ตลอดจนการเรียนรู้วิธีการปฏิบัติเพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้


สรุป 
           การเรียนรู้มีความสำคัญต่อมนุษย์ เพราะมนุษย์เกิดมาก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  มนุษย์ควรมีการปรับตัวให้เข้ากับสังคม เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด เรียนรู้เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ซึ่งการเรียนรู้สามารถเรียนได้ตลอดชีวิต
           
ที่มา
         ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์.(2546).จิตวิทยาการศึกษา.กรุงเทพฯ:ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.
         พงษ์พันธ์  พงษ์โสภา.(2542).จิตวิทยาการศึกษา.กรุงเทพ:พัฒนาศึกษา.
         วารินทร์ สายโอบเอื้อ.(2529).จิตวิทยาการศึกษา.กรุงเทพฯ:เทียนเจริญพาณิช.

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความหมายของการเรียนรู้

          จินตนา ณ สงขลา (2555 : 70) ได้กล่าวถึงความหมายของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากประสบการณ์หรือการฝึกฝน 
          สุรางค์ โค้วตระกูล (2541 : 185)ได้กล่าวถึงความหมายของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลง  พฤติกรรมซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อม หรือจากการฝึกหัด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงปริมาณความรู้ของผู้เรียน
             https://th.wikipedia.org/wiki/การเรียน ได้รวบรวมความหมายของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้หมายถึง การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะ คุณค่า หรือความพึงใจ ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ และอาจเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารสนเทศชนิดต่าง ๆ ผู้ประมวลทักษะของการเรียนรู้เป็นได้ทั้งมนุษย์ สัตว์ และเครื่องจักรบางชนิด ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเวลามีแนวโน้มเป็นเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้
สรุปความหมายของการเรียนรู้
          การเรียนรู้หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  อันผลเนื่องมาจากกระบวนการเรียนรู้ ประสบการณ์หรือการฝึกหัด โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลนั้นจะเกิดขึ้นค่อนข้างถาวรหรือถาวร

ที่มา
           https://th.wikipedia.org/wiki/การเรียน.ความหมายการเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อ 15 มิถุนายน 2558.
           จินตนา ณ สงขลา.(2555).จิตวิทยาสำหรับครู.กรุงเทพฯ:ศูนย์การเรียนรู้ และผลิตสิ่งพิมพ์ดิจิตอล.
           สุรางค์ โค้วตระกูล.(2541).การจัดการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.กรุงเทพฯ:PRO-TEXTS.