วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้

ยุพิน พิพิธกุล (ม.ป.ป.:  118-120) ได้กล่าวถึงการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ว่า ในการประเมินผลนั้น ย่อมมีวิธีการต่างๆ กันไปแล้วแต่โรงเรียนจะกำหนด ถึงในปัจจุบันมีคะแนนงานระหว่างปี ครูอาจจะประเมินผลด้วยการออกข้อทดสอบ การตรวจแบบฝึกหัด การให้งานมอบหมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเทคนิคของครุแต่ละคน แต่อย่างไรก็ตามทุกโรงเรียนจะต้องมีการสอบ ดังนั้นก่อนที่จะสอบครูจะต้องตั้งวัตถุประสงค์เสียก่อนว่า ครูจะประเมินผลอย่างไร และเมื่อไร โรงเรียนย่อมจัดการสอนตามความเหมาะสม ซึ่งส่วนมากก็จะมีการสอบปลายภาค และสอบปลายปีการศึกษา เพื่อให้เข้าใจถึงการประเมินเมื่อไรและอย่างไร ขอแบ่งการประเมินผลออกเป็น 2 ประการ ดังนี้
            1. การประเมินผลย่อย (Formative evaluation)
            2. การประเมินผลรวม (Summative evaluation)

การประเมินผลย่อย ลักษณะของการประเมินผลย่อย มีดังนี้
            1. เป็นการแบ่งวิชาออกเป็นหน่อยย่อยหลายๆหน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยอาจใช้เวลาเรียน 1-2 สัปดาห์ แต่ละหน่วยนั้นอาจเป็นบทเรียนบทหนึ่ง เมื่อจบตอนแล้วก็มีการออกข้อทดสอบย่อย
            2. จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการประเมินผลย่อย ไม่ใช่การใช้เกรดที่จะไปตัดสินได้ตกหรือเกี่ยวกับการเลื่อนชั้น แต่ควรจะเป็นการช่วยนักเรียนและครูปรับปรุงการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงการประเมินผลย่อยนี้กระทำในระหว่างที่ครูกำลังดำเนินการสอนอยู่ และควรทำต่อเนื่องกันไปโดยสม่ำเสมอ เมื่อพบข้อบกพร่องตอนใดก็แก้ไขได้ทันท่วงที
            3. ควรจะสร้างแบบทดสอบเพื่อวินิจฉัยความก้าวหน้าของนักเรียนเป็นระยะๆ เพื่อตรวจดูว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใด และเมื่อรู้ข้อบกพร่องคราวต่อไปก็ควรจะได้ชี้แจงหรืออธิบายเพิ่มเติม
            4. การทดสอบย่อย ควรจะได้กระทำก่อนที่จะสอนใหม่ หรือควรจะทดลอบเกี่ยวกับทักษะ และความคิดรวบยอดในด้านต่างๆ ก่อนที่จะมีการทดสอบรวม
            5. การทดสอบย่อย เป็นประโยชน์ในการที่จะรวบรวมผลและข้อบกพร่องต่างๆไว้ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างหลักสูตรใหม่
            6. ผู้ที่ใช้การประเมินผลแบบนี้ ควรจะตรวจดูว่าผลของการประเมินตรงกับจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนที่ตั้งไว้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การออกข้อสอบแต่ละหน่วยหรือบทนั้นอาจจะวัดพฤติกรรมไม่ได้ครบทุกอย่าง
            7. การประเมินผลย่อมจะเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการแข่งขัน และเรียนด้วยความตั้งใจอยู่เสมอ
            8. การประเมินผลย่อยจะช่วยนักเรียนได้มาก เพราะเป็นการแบ่งขั้นการเรียนรู้ออกเป็นหน่วยย่อยตามลำดับ จะทำให้นักเรียนเลิกวิตกกังวล เพราะเมื่อนักเรียนไม่ทราบตรงจุดไหนครูก็อธิบายเพิ่มเติมหรือทบทวนเสียก่อน
            9. การประเมินผลย่อยมิได้มุ่งแบ่งแยกนักเรียน แต่มุ่งที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
            10. ในการสร้างข้อทดสอบย่อยนั้น ไม่ต้องการความรู้ใหม่ หรือทักษะที่ผิดปกติอย่างใด แต่จะเป็นการสร้างคำถามที่เรียงตามลำดับความสำคัญของพฤติกรรมการเรียนรู้และตามลำดับการสอนของครู

การประเมินผลรวม ลักษณะของการประเมินผลรวม มีดังนี้
            1. เป็นการประเมินผลรวมทั้งหมดของหลักสูตร หรือเมื่อจบวิชาหนึ่ง ใช้ในการสอบไล่เพื่อเลื่อนชั้น หรือให้ประกาศนียบัตร เป็นการประเมินคำที่ใช้ตอนสิ้นเทอมหรือปลายปี หรือเรียนครบวิชา ครบโปรแกรม ใช้ประเมินผลความก้าวหน้าหรือวินิจฉัยเกี่ยวกับผลของหลักสูตรหรือผลของการศึกษา หรือโครงการแห่งการศึกษา เป็นการประเมินผลเมื่อการเรียนการสอนสิ้นสุดลงแล้ว
            2. จุดมุ่งหมายของการประเมินผลรวม คือ ให้มีการทดสอบรวมและให้คะแนนเพื่อนำไปตัดสินการได้ตกหรือเลื่อนชั้นนักเรียน
            3. การประเมินผลรวมนี้ใช้เปรียบเทียบผลการเรียนรู้ตลอดปี หรือตลอดเทอมของนักเรียนเป็นรายบุคคล
            4. การประเมินผลรวม จะมีการทดสอบสองหรือสามครั้งในแต่ละวิชา ซึ่งโดยปกติมักจะทำปลายภาคปละปลายปี
            5. การประเมินผลรวมนี้ใช้ในการพิจารณาเริ่มต้นการสอนของวิชาที่จะสอนสืบต่อกันไป
            6. การประเมินผลรวม มุ่งในการวัดผลทั่วๆไป ทั้งวิชาจะประเมินผลได้อย่างกว้างขวาง และวัดพฤติกรรมต่างๆได้ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนที่ตั้งไว้
           
สุรางค์ โค้วตระกูล (2541: 416-418) ได้กล่าวถึงการประเมินผลไว้ว่าการประเมินผล (Evaluation)เป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นสำหรับโปรแกรมทุกอย่างของโรงเรียนตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอน โปรแกรมอาหารกลางวันของนักเรียนควรจะได้รับการประเมินว่าได้ผลคุ้มอย่างไร การประเมินผลอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1) การประเมินผลบั้นปลายตอนจบหลักสูตร (Summative Evaluation)
            การประเมินผลประเภทนี้มักจะประเมินเมื่อผู้เรียนได้เรียนจบหลักสูตรของวิชาหนึ่งๆแล้วในโรงเรียนอาจจะเป็นตอนกลางปีหรือปลายปีก็ได้ นอกจากนี้อาจจะใช้การประเมินผลแบบ Summative เมื่อมีการอบรมพิเศษ เพื่อแสดงว่าผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ตามหลักสูตร ถ้าหากผู้เรียนผ่านการสอบการประเมินผลแบบ Summative อาจจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาถ้าหากที่จะประเมินผลของการศึกษาทุกแง่ทุกมุม เช่น ทัศนคติของนักเรียน หนังสือ ตำราที่ทางโรงเรียนใช้ เวลาที่นักเรียนใช้ในการเรียนการสอนแต่ละวิชาความรู้ที่นักเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่
2) การประเมินผลเพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation)
            Scriven (1967) เป็นผู้ริเริ่มแนะนำให้ผู้ที่มีส่วนสร้างหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนใช้วิธีประเมิลผล เพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation) ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อจะได้ทราบว่าหลักสูตรใช้ได้ผลดีหรือไม่ดีอย่างไร โดยประเมินหลักสูตรเป็นตอนๆ ถ้าพบข้อบกพร่องก็จะได้ดัดแปลงแก้ไขทันท่วงที ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างหลักสูตร Scriven กล่าวว่าวิธีการสร้างหลักสูตรคณะกรรมการการสร้าง หลักสูตรมักจะทำงานสร้างหลักสูตรตั้งแต่ต้นจนจบแล้วนำออกไปใช้ในโรงเรียนโดยไม่ได้ทำการทดลองเป็นขั้นๆ ถ้าหากผู้ใช้เสนอแนะให้แก้ไขผู้สร้างหลักสูตรก็มักจะพยายามที่จะต่อต้านไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะคิดว่าได้ทุ่มเทกำลังงานไปมากแล้ว ดังนั้นถ้าหากผู้สร้างหลักสูตรจะใช้การประเมินผลแบบ Formative ประเมินผลเป็นตอนๆ ผู้สร้างอาจจะใช้ข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้ดีขึ้น
Bloom, et. Al., (1971) ได้เสนอแนะให้ครูใช้ Formative Evaluation ในโรงเรียนเพื่อช่วยนักเรียนให้เรียนรู้ แลได้กล่าวถึงประโยชน์ของ Formative Evaluation ไว้ดังต่อไปนี้
         1.ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนทราบว่าตนเองสามารถที่จะเรียนรู้จนรอบรู้ (Master) หน่วยการเรียนแต่ละหน่วยหรือไม่ โดยใช้วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ก็จะเป็นแรงเสริมให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ต่อไป และในกรณีที่นักเรียนทำไม่ได้ครูก็จะได้ช่วยนักเรียนได้ทันท่วงที ทำให้นักเรียนซาบซึ้งในความเอาใจใส่ของครู ทำให้นักเรียนเอาใส่ในบทเรียนมากขึ้น และพยายามเรียนรู้สิ่งที่ทำไม่ได้จนรอบรู้
          2.ช่วยครูในการสอนนักเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน ครูอาจจะแบ่งหน่วยของการเรียนแต่ละหน่วยออกเป็นส่วนย่อย ตามลำดับความยากง่าย เป็นต้นว่าหน่วยเรียนเกี่ยวกับการเรียนเลขเศษส่วน ครูอาจจะแบ่งหน่วยเรียนออกเป็น 10 ขั้น ตามลำดับความยากง่าย ดูว่านักเรียนแต่ละคนอยู่ระดับใด ตั้งต้นจากการบวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนเต็ม  จนถึงการใช้เศษส่วน ความหมายของเศษส่วน การบวก ลบ คูณ หาร เศษส่วนเป็นต้น ถ้านักเรียน บวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนเต็มไม่ได้ก็ยากที่จะเรียนเลข บวก ลบ คูณ หาร เศษส่วนได้ การวิจัยเกี่ยวกับนักเรียนที่ไม่มีความถนัดทางเลขพบว่า ถ้าครูพยายามช่วยโดยการแบ่งหน่วยเรียนเป็นส่วนย่อยและใช้ Formative Evaluation จะสามารถช่วยนักเรียนในการเรียนเลขได้ เพราะเมื่อนักเรียนสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ของหน่วยเรียนขั้นง่ายแล้วก็จะสามารถที่จะทำขั้นต่อไปโดยไม่ยากนัก
           3.ช่วยครูวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนของนักเรียนอยู่ที่ไหน หรือปัญหาของนักเรียนที่ทำไม่ได้คืออะไร และบอกให้นักเรียนแต่ละคนทราบปัญหาในการเรียนแต่ละหน่วย และวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมนักเรียนถึงมีปัญหาทำไม่ได้ บางครั้งปัญหาก็ง่ายที่จะปรับปรุงแก้ไข เช่น การเลินเล่อ อ่านโจทย์ หรือคำถามไม่ละเอียด หรือตีความหมายผิด หรือบางครั้งอาจจะเป็นเพราะความรู้พื้นฐานที่จำเป็นของนักเรียนไม่มี ไม่ว่าปัญหาของนักเรียนจะเป็นประเภทใด ถ้าทราบก็จะได้แก้ไขทันท่วงที
          4.ครูอาจจะใช้ Formative Evaluation ช่วยปรับปรุงการสอนของครู เป็นต้นว่า ถ้าหากนักเรียนทั้งห้องทำข้อหนึ่งข้อใดผิดก็แสดงว่าการสอนหรือการอธิบายของครูอาจจะไม่แจ่มแจ้ง หรือทำให้นักเรียนเข้าใจผิด ถ้าหากนักเรียนมากกว่าครึ่งห้องไม่สามารถทำได้ ก็แสดงว่าครูควรจะหาวิธีสอนหรือวิธีอธิบายหน่วยเรียนใหม่ หรือใช้ตัวอย่างหรืออุปกรณ์การสอนที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างรอบรู้คือ สามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
         5.Formative Evaluation ช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนตั้งความคาดหวังสำหรับความสัมฤทธิผลของการสอบไล่ปลายปีได้ ถ้านักเรียนทราบอยู่ตลอดเวลาว่าตนทำได้ จากผลของ Formative Evaluation ก็จะตั้งความคาดหวังหรือระดับความทะเยอทะยานในการสอบไล่ไว้สูง และคิดว่าตนคงจะทำได้เป็นการช่วยให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะตั้งใจเรียนให้ดี สำหรับนักเรียนที่ทำไม่ได้ก็มีโอกาสแก้ตัว พยายามแก้ไขจุดอ่อนของตน สามารถเรียนรู้จนรอบรู้ หน่วยเรียนแต่ละหน่วยได้ทำให้มีความมั่นใจในเวลาสอบไล่
         สรุปแล้วในการเรียนการสอน ถ้าหากครูจะใช้ Formative Evaluation ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนสามารถเรียนรู้จนรอบรู้ ทุกหน่วยเรียนก็จะเป็นการช่วยนักเรียนในการสอบไล่ตอนจบหลักสูตรทำให้นักเรียนมีความมั่นใจในตนเอง และไม่มีความกระวนกระวายใจมากในขณะที่สอบ ข้อสำคัญที่สุดก็คือครูไม่ควรจะให้คะแนนเวลาที่ใช้ Formative Evaluation และควรจะเน้นถึงประโยชน์ของ Formative Evaluation ให้นักเรียนทราบ

เอกศักดิ์ บุตรลับ (2537 : 389 – 395) ได้รวบรวมเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้
การประเมินผล (Evaluation)
            กรมสามัญศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ (2522 : 1)  ให้ความหมายไว้ว่า การประเมินผล หมายถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดว่า เป็นที่ต้องประสงค์หรือมีค่านิยมถูกต้องหรือไม่มากน้อยเพียงใด การประเมินผลจำเป็นต้องมีเป้าหมายหรือเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว จึงนำข้อมูลที่ได้จากการวัดนั้นมาประเมินในทิศทางตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด
            บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์ (2521 :6) กล่าวว่า การประเมินผลเป็นกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล และวินิจฉัย ตัดสิน สรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดอย่างมีหลักเกณฑ์
            เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และอเนกกุล กรีแสง (2517 : 7) ให้ความหมายการประเมินผลเป็นการใช้   วิจารณญาณตัดสินคุณค่า โดยอาศัยการวัดผลเป็นเครื่องช่วย
            สรุปได้ว่า การประเมินผลเป็นขบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดผลว่า สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน สอบได้หรือสอบตก เป็นต้น
จุดประสงค์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา   
            ในการวัดผลและประเมินผลการศึกษานั้น มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้ (ลำพอง บุญช่วย ม.ป.ป. : 214-215)
            1. เพื่อการคัดเลือก (Selecion) การพิจารณารับนักเรียนเข้าเรียน ต้องอาศัยการวัดผลและประเมินผลกรรมเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด
            2. เพื่อจำแนกบุคคล (Classification) การจำแนกบุคคลออกเป็นพวกเก่งอ่อน สอบได้ สอบตก หรือการให้เกรดเป็น A B C D E ก็ต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลทั้งสิ้น
            3. เพื่อวินิจฉัย (Diagnosis) การวัดผลและประเมินผลจะช่วยให้ครูสามารถวินิจฉัยได้ว่า เด็กคนใดเก่ง อ่อนด้านใด ซึ่งทำให้มองเห็นวิธีแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆได้
            4. เพื่อประเมินความก้าวหน้า (Assessment) การที่จะทราบได้ว่าผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมไปจากเดิมหรือไม่ เพียงใดนั้น จำเป็นต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลเป็นเครื่องชี้ โดยมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดู ก็จะทำให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนได้
            5. เพื่อทำนาย (Prediction) การวัดผลและประเมินผลช่วยให้ได้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้เรียน ซึ่งสามารถนำมาประกอบในการพิจารราว่า นักเรียนคนใดควรเรียนอะไร ได้ดีในอนาคต ซึ่งจำเป็นสำหรับการแนะแนวเป็นอย่างยิ่ง
            6. เพื่อจูงใจในการเรียนรู้ (Motivating Learning) การวัดผลและประเมินผลเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน เกิดความพยายาม โดยเฉพาะเมื่อมีการทดสอบแล้ว ผู้เรียนได้ทราบผลการสอบของตนย่อมทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
            7. เพื่อประเมินวิธีการสอนของครู (Evaluation of Treatment) การวัดผลและประเมินผลที่ดีจะต้องวัดผลทั้งตัวผู้เรียนและตัวครู ทั้งนี้เพราะการที่ผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ อาจเกิดจากวิธีการสอนของครูที่ใช้ไม่ดี วัสดุอุปกรณ์ไม่เหมาะสม ดังนั้นการวัดผลและประเมินผลวิธีการสอนของครูจึงมีความจำเป็น
            8. เพื่อรักษามาตรฐาน (Maintaining Standard) ในการผลิตกำลังคนของสถาบันต่างๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพ วิธีการอันหนึ่งที่จะใช้ในการรักษามาตรฐานก็ได้แก่ การวัดผลและประเมินผลนั่นเอง
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน
            การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน เป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพราะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ (กรมสามัญศึกษา 2522 :8)
            1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน ผลที่ได้จากกระบวนการวัดผลและประเมินผล จะเป็นข้อมูลย้อนกลับที่นำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
            2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว ปกตินักเรียนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาต่อ การเลือกอาชีพ และปัญหาส่วนตัวอยู่เสมอ ซึ่งการวัดผลจะช่วยในเรื่องนี้ได้ ด้วยการใช้แบบทดสอบชนิดต่างๆ
            3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร การประเมินผลการเรียนการสอนจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า ควรจะแก้ไขปรับปรุงกลไกการบริหารงานของสถานศึกษาอย่างไร
            4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย การวิจัยในด้านการเรียนการสอน การแนะแนวและการบริหาร ย่อมต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการวัดผลและประเมินผล หรือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยได้ด้วย

ประเภทของการประเมินผล
การจำแนกประเภทของการประเมินผลนั้น จะจำแนกออกเป็นกี่ประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง โดยทั่วๆ ไปแล้วมีเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผลอยู่ 2 เกณฑ์
            1. จุดประสงค์ของการประเมินผล แบ่งออกได้เป็น
                        1.1 การประเมินผล เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน (Formative Evaluation)
                        1.2 การประเมิล เพื่อตัดสินผลการเรียน (Summative Evaluation)
            2. จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งออกได้เป็น
                        2.1 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)

                        2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation)

สรุป
การประเมินผลหมายถึง กระบวนการพิจารณาตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้จากการวัดผล ซึ้งในการประเมินผลการเรียนรู้ทำให้ทราบข้อบกพร่องในการเรียนการสอน จะนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
ประเภทของการประเมินผล
เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผลอยู่ 2 เกณฑ์
1. จุดประสงค์ของการประเมินผล แบ่งออกได้เป็น
            1.1 การประเมินผลเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน หรือการประเมินผลย่อย หรือการประเมินผลเพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation)
            1.2 การประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน หรือการประเมินผลรวม หรือการประเมินผลบั้นปลายตอนจบหลักสูตร (Summative Evaluation)
2. จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งออกได้เป็น
           2.1 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)
           2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation)
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน
          1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน 
          2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว
          3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร
          4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย


ที่มา
ยุพิน พิพิธกุล.  (ม.ป.ป.).การสอนคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา. กรุงเทพฯ:
            กรุงเทพการพิมพ์.
สุรางค์ โค้วตระกุล. (2541).จิตวิทยาการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ:
            โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
 เอกศักดิ์  บุตรลับ. (2537).ครูและการสอน.  (พิมพ์ครั้งที่ 2).  เพชรบุรี :
            สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.

องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้

ประไพ ฉลาดคิด (2548: 4-5) ได้กล่าวองค์ประกอบของการเรียนรู้ไว้ดังนี้ ลองจินตนาการเป็นภาพต่อไปนี้ ในการสอนแต่ละครั้งเมื่อผู้สอนเข้ามาในชั้นเรียนน่าจะมีกิจกรรมการเรียนการสอนเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าในห้องเรียนนั้นคงไม่ใช่ห้องเรียนที่ว่างเปล่า แต่ควรมีองค์ประกอบต่อไปนี้ในชั้นเรียน
            1.ผู้สอน ผู้สอนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งต่อการสอน เพราะต้องเป็นผู้รู้หลักสูตรและนำเนื้อหาสาระมาดำเนินการสอน มีการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ตลอดเวลาของการเรียนการสอน โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในบทเรียน มีทักษะกระบวนการ และมีเจตคติที่ดีตามเจตนารมณ์ของบทเรียนและหลักสูตร นอกจากนั้นครูยังต้องมีความสามารถใช้สื่อประกอบการสอน และสอนให้ตรงตามจุดประสงค์ที่ได้วางไว้ทำให้การสอนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
            2. ผู้เรียน ผู้เรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสอน เพราะการสอนจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีผู้เรียนเป็นผู้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ต่างๆ ที่ผู้สอนจัดให้ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามจุดประสงค์ของการสอนที่ตั้งไว้
            3. กิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนเป็นองค์ประกอบอีกประการหนึ่ง ที่มีความสำคัญมากต่อการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนนั้นออกแบบโดยผู้สอนและผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ มีการวัดผลและประเมิลผลตามที่ผู้สอนได้วางแผนไว้
            4. บริบทในการเรียนการสอน ในการสอนที่ต้องการให้เกิดผลที่ดีทั้งต่อผู้สอนและผู้เรียนนั้น สภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียนก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันได้แก่ ความเหมาะสมของสีในห้องเรียน การถ่ายเทของอากาศ ทิศทางลม เสียงรบกวนจากภายนอกห้องเรียน เช่น เสียงรถยนต์วิ่งผ่านไปมา กลิ่นเหม็นจากตลาดสด เป็นต้น

เอกศักดิ์ บุตรลับ(2537 : 210) ได้กล่าวองค์ประกอบการเรียนรู้ไว้ว่า องค์ประกอบที่เป็นตัวป้อนในระบบการเรียนการสอน ได้แก่ ครู นักเรียน บุคลากรในโรงเรียนอื่นๆ หลักสูตร และสิ่งแวดล้อมทางการเรียน
            1.ครู เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
            2.เรียน เป็นองค์ประกอบทีมีความสำคัญและจะขาดมิได้ เพราะถ้าหากไม่มีผู้เรียนแล้ว การสอนก็จะไม่เกิดขึ้น
            3.หลักสูตร เนื่องจากหลักสูตรเป็นสื่อกลางที่จะนำนักเรียนไปสู่จุดหมายปลายทางทีสังคมได้คาดหวังไว้ ดัง
            4.สิ่งแวดล้อมทางการเรียน ได้แก่ การจัดห้องเรียน การจัดเวลาเรียน การเลือกแหล่งวิทยาการ และการบริการสนับสนุนการเรียนการสอน

Ning_sced (http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.html) ได้กล่าวองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ไว้ดังนี้
1. ผู้สอน เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการที่จะแปลมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ที่เป็นตัวหนังสือให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม น่าสนใจ และมีกระบวนการเรียนรู้หลากหลายวิธีอย่างอิสระ จะต้องรู้จักเลือกปรับปรุงเทคนิคและวิธีการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียนโดยไม่ใช้วิธีการเดียว ควรมีการดัดแปลงและเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาในแต่ละเรื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
2. ผู้เรียน เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งบุคลิกภาพ สติปัญญา ความถนัด ความสนใจและความสมบูรณ์ของร่างกาย ผู้เรียนควรมีโอกาสร่วมคิด ร่วมวางแผนในการจัดการเรียนการสอน และมีโอกาสเลือกวิธีเรียนได้อย่างหลากหลาย ตามความเหมาะสมภายใต้การแนะนำของผู้สอน
3. เนื้อหาวิชาต่างๆ ซึ่งผู้สอนจะต้องจัดเนื้อหาวิชาให้มีความสัมพันธ์กัน มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมของการจัดการเรียนรู้
4. สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ ผู้สอนต้องมีวิธีการที่จะจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางวิชาการ เช่น จัดห้องชวนคิด ห้องกิจกรรมวิทยาศาสตร์ จัดระบบนิเวศจำลอง จัดบริเวณโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางชีววิทยา ธรณีวิทยา ฯลฯ มีการดัดแปลงห้องเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ดี และจัดกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย


สรุปองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้
            องค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย
                 1.ครูผู้สอน
เป็นองค์ประกอบที่ในการเรียนการสอน เพราะเป็นคนถ่ายทอดและให้คำแนะนำกับผู้เรียน
                 2.ผู้เรียน เป็นองค์ประกอบทีมีความสำคัญและจะขาดมิได้ เพราะถ้าหากไม่มีผู้เรียนแล้ว การสอนก็จะไม่เกิดขึ้น
                 3.เนื้อหาวิชาต่างๆ ซึ่งผู้สอนจะต้องจัดเนื้อหาวิชาให้มีความสัมพันธ์กัน มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมของการจัดการเรียนรู้
                 4.สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                 5.สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ ผู้สอนต้องจัดการภายในห้องเรียนให้น่าอยู่ ให้เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนรู้

ที่มา
ประไพ ฉลาดคิด. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: เกษมศรี ซี.พี.
เอกศักดิ์ บุตรลับ.(2537).ครูและการสอน.เพชรบุรี:สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.
Ning_sced.[Online].http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.html ลักษณะของการจัดการเรียนรู้ –
            สารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพ
.
เข้าถึงเมื่อ 13 กรกฎาคม 2558.

รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบหน่วย

            ดวงเดือน เทศวานิช (2529 : 120) ได้กล่าวไว้ว่า การสอนแบบหน่วย หมายถึงการสอนที่นำเอาเนื้อหาวิชาหลายวิชามาสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน โดยมีวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นแกนหลัก เรียกว่าหน่วย
            
            ชนิดของหน่วย หน่วยแบ่งออกเป็น 4 ชนิดดังนี้
1.หน่วยเนื้อหา คือหน่วยที่มุ่งเอาเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลางของหน่วยถือหนังสือเรียนหรือตำราเป็นแหล่งวิชาที่สำคัญที่สุดในการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ผู้เรียนได้รับความรู้ในการค้นคว้าจากหนังสือ ใช้เวลาในการสอนหน่วยหนึ่งไม่มากนัก เพราะผู้สอนเป็นผู้นำในการเลือกหน่วย วางโครงการ วางแผนงานและทำงาน เช่น หน่วยเรื่องความสะอาด เป็นต้น
2.หน่วยประสบการณ์ คือหน่วยที่มุ่งเอาประสบการณ์ในชีวิตของผู้เรียนเป็นหลัก เพราะเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจที่เรียนรู้ ผู้สอนและผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกหน่วยงานและวางแผนงาน การวางแผนงานควรให้ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ผู้สอนควรคำนึงถึงระดับชั้น ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่นหน่วยเรื่อง อาชีพของคนไทย
เป็นต้น
3.หน่วยกิจกรรม คือหน่วยงานที่มุ่งเอากิจกรรมเป็นหลัก ผู้สอนจะต้องพิจารณาถึงความสนใจ ความต้องการ ความสามารถ และวุฒิภาวะของผู้เรียนแต่ละคน แต่ละวัย เพื่อเลือกกิจกรรมที่สนองความต้องการของผู้เรียนในระดับนั้น ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกกิจกรรมและวางแผนที่จะแก้ปัญหา เช่นหน่วยเรื่อง การรักษาความสะอาดภายในบ้านและโรงเรียน” “การปรับปรุงโรงเรียนของเราเป็นต้น
4.หน่วยวิทยาการ คือหน่วยงานที่รวบรวมปัญหาตลอดจนกิจกรรมและประสบการณ์ต่างๆสำหรับผู้เรียนไว้โดยมูลแล้ว เพื่อให้นำไปใช้สอนได้ เช่นหน่วยเรื่อง ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เป็นต้น

ขั้นตอนของการสอนแบบหน่วย
การสอนแบบหน่วย แบ่งออกเป็น 5 ขั้นดังนี้
       1.ขั้นนำเข้าสู่หน่วย (Introduction or approach period) เป็นการสำรวจความต้องการ ความสนใจ ให้ผู้เรียนเข้าใจจุดมุ่งหมายของหน่วย โดยเร้าให้ผู้เรียนสนใจบทเรียนด้วยวิธีต่างๆ เช่นการสนทนาหรืออภิปรายปัญหา การแนะนำหนังสือให้อ่าน การไปศึกษานอกสถานที่ การไปชมนิทรรศการ การฉายภาพยนตร์ ให้ผู้เรียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง ให้อ่านหนังสือพิมพ์หรือวารสาร ฯลฯ เพื่อนำเข้าสู่ปัญหาที่จะเรียน ผู้สอนมีหน้าที่ชี้ทางให้ผู้เรียนเห็นปัญหา
จัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหาและตั้งความมุ่งหมายในการแก้ปัญหา ขั้นนี้จบลงด้วยการช่วยกันตั้งชื่อหน่วย พร้อมกับรวบรวมปัญหาย่อยๆทั้งหมด
       2.ขั้นผู้สอนและผู้เรียนวางโครงการร่วมกัน (Pupil-teacher planning period) เมื่อได้ชื่อหน่วยและปัญหาย่อยๆแล้ว ผู้สอนและผู้เรียนวางแผนร่วมกันเพื่อที่จะแก้ปัญหา โดยช่วยกันตั้งความมุ่งหมายทั่วไป และความมุ่งหมายเฉพาะตั้งปัญหา แบ่งปัญหาออกเป็นหัวข้อย่อยๆประมาณ 4-6ข้อ ให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มและเลือกหัวข้อที่จะทำ ต่อไปก็มีการประชุมกลุ่มย่อย และรายงานผลการประชุม ผู้สอนมีหน้าที่ช่วยผู้เรียนวางแผนแก้ปัญหา มอบหมายงานให้ผู้เรียนแต่ละหมู่รับผิดชอบ ทำงานตามความสามารถและความสนใจ แนะนำให้ผู้เรียนรู้จักแหล่งวิชาที่จะเป็นประโยชน์แก่การแก้ปัญหา
       3.ขั้นดำเนินงาน (Working period) ผู้เรียนจะค้นคว้าหาความรู้ ทำงานและทดลอง เป็นขั้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ผู้สอนมีหน้าที่ช่วยเหลือให้คำแนะนำเมือมีปัญหา ให้เข้าใจปัญหา รู้จักแหล่งวิชาที่ใช้แก้ปัญหาให้รับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายและทำงานอย่างมีหลักเกณฑ์ ช่วยให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้โดยการไปสัมภาษณ์ ศึกษานอกสถานที่ เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ ค้นคว้าจากห้องสมุด ประดิษฐ์สิ่งต่างๆเช่นปั้น วาด เป็นต้น ขั้นนี้แบ่งเป็น 2 ประการดังนี้
            (1) การสำรวจและรวบรวมความรู้ต่างๆจากห้องสมุด หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เอกสารต่างๆ ภาพยนตร์ ภาพนิ่ง วิทยากร สังคม และธรรมชาติ
            (2) ความสัมพันธ์กับวิชาต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ ศิลปะ
       4. ขั้นเสนอกิจกรรม (Culmination activity) เป็นการสรุปรวบรวมความรู้เข้าด้วยกันและเสนอผลงานซึ้งเป็นกิจกรรมที่แสดงออกในทางสร้างสรรค์ เช่น รายงานปากเปล่า อ่านรายงาน อภิปราย ทำสมุดภาพ แสดงละคร จัดนิทรรศการ ฯลฯ
       5.ขั้นประเมิลผล (Evaluation) เมื่อผู้เรียนแสดงผลงานเสร็จแล้ว ผู้สอนควรประมวลความรู้ที่ได้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน นำมาจัดลำดับแสดงความสัมพันธ์ของความรู้และอาจเพิ่มเติมความรู้ที่ยังขาดให้ด้วย แล้วทำการประเมินผลจากการวัดด้านต่างๆดังนี้
            (1) วัดความรู้ทางวิชาการ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ทักษะต่างๆและความสามารถในการค้นคว้า เป็นต้น โดยทำการสัมภาษณ์หรือให้ทำข้อทดสอบ
            (2) วัดความสามารถต่างๆ เช่น ความสามารถในการทดลอง การทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยการสังเกตพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกมาขณะกำลังทำงาน
            (3) วัดเจตคติ เป็นการวัดทางด้านความรู้สึกนึกคิด เช่นมีความรู้สึกที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานหรือไม่ มีความสนใจทำการค้นคว้าทดลองเพิ่มขึ้นหรือไม่ ฯลฯ โดยการสังเกตหรือสัมภาษณ์
            (4) วัดคุณลักษณะส่วนตัว เช่นการทำงานร่วมกับผู้อื่น การเป็นผู้นำความคิดริเริ่มความรับผิดชอบ ใจกว้างพอที่จะยอมรับคำวิจารณ์ ฯลฯ โดยการสังเกต สัมภาษณ์ ใช้แบบสอบถาม           

            สุชา จันทน์เอม (2521 : 170) ได้กล่าวไว้ว่า ในการสอนแบบหน่วย หมายถึงการสอนการเรียนเป็นส่วนรวม โดยนำความรู้ต่างๆมาสัมพันธ์กัน เพื่อช่วยในการแก้ปัญหา ขอบเขตของกิจกรรมและประสบการณ์อาจจะมากน้อย ขึ้นอยู่กับอายุและชั้นเรียนของเด็ก
            
             ชนิดของหน่วย
1.หน่วยเนื้อหาวิชา เป็นหน่วยที่มุ่งเอาเนื้อหาวิชาเป็นหลัก ครูเป็นผู้นำในการเลือกหน่วยวางแผน และการทำงาน
2. หน่วยประสบการณ์  มุ่งเอาประสบการณ์ของเด็กเป็นหลัก ยึดความสนใจของเด็กเป็นสำคัญ เด็กและครูร่วมมือกันเลือกหน่วยและวางแผนงาน
3.หน่วยกิจกรรม มุ่งกิจกรรมเป็นหลัก กิจกรรมนั้นต้องสนองความสนใจ ความต้องการและความสามารถของเด็ก เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกหน่วยด้วย
4.หน่วยวิทยากร คือ หน่วยรวบรวมปัญหา ตลอดจนกิจกรรมและประสบการณ์
            ขั้นการสอน
ขั้นที่ 1 การสอนเพื่อเร้าความสนใจ และมองเห็นปัญหา ครูเร้าความสนใจเด็ก โดยการสนทนา การอภิปราย หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ
ขั้นที่ 2 นักเรียนและครูร่วมกันวางแผนงาน
ก.     การวางแผนงานส่วนใหญ่ คือการแบ่งแยกปัญหาใหญ่เป็นปัญหาย่อย
ข.     การวางแผนงานโดยละเอียด ปัญหาย่อยทุกๆปัญหาจัดให้มีกิจกรรมให้เหมาะกับเนื้อหาวิชา
ค.     การจัดแบ่งนักเรียนออกเป็นหมู่ และรับเอาปัญหาย่อยไปช่วยกันแก้
ขั้นที่ 3 นักเรียนลงมือทำงานตามแผนงานในขั้นที่ 2 เช่น ค้นคว้า สำรวจ ศึกษานอกสถานที่ สัมภาษณ์ ฯลฯ
ขั้นที่ 4 การรายงานผลงานต่อชั้น แต่ละหมู่รายงานผลที่ได้ปฏิบัติต่อชั้นครูต้องคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา นักเรียนอาจจะมีการซักถาม โต้ตอบกันเอง

ขั้นที่ 5 การวัดผลเป็นการตรวจสอบดูว่า การเรียนของนักเรียนได้ผลเพียงใด การวัดผลหลายๆด้าน เช่น ความรู้ความเข้าใจ ทักษะในการแก้ปัญหา ทัศนคติ ความคิดริเริ่ม การฝึกประชาธิปไตย ฯลฯ
             http://www.neric-club.com/data.php?page=4&menu_id=76  ได้รวบรวมวิธีการสอนแบบหน่วยไว้ว่า วิธีสอนแบบหน่วย (Unit Teaching Method) เป็นวิธีการสอนที่นำเนื้อหาวิชาหลายวิชามาสัมพันธ์กัน โดยไม่กำหนดขอบเขตของวิชา แต่ยึดความมุ่งหมายของบทเรียนที่เรียกว่า “หน่วย” นักเรียนอาจเรียนหลายๆวิชาพร้อมๆกันไปตามความต้องการและความสามารถของนักเรียน
 ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบหน่วย
1. เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติการศึกษาค้นคว้าหาความรู้และแก้ปัญหาด้วยตนเอง
2. เพื่อส่งเสริมการทำงานที่เป็นประชาธิปไตย ได้แก่ นักเรียนร่วมกันปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปฏิบัติงานและแก้ปัญหาร่วมกัน
 ขั้นตอนของวิธีการสอนแบบหน่วย
            1.ขั้นนำเข้าสู่หน่วย ขั้นตอนนี้ครูเป็นผู้เร้าความสนใจของนักเรียนด้วยการนำหนังสือที่น่าสนใจหรือสนทนาพูดคุยหรือเล่าเรื่องหรืออภิปรายหรือพาไปทัศนศึกษา หรือชมนิทรรศการ หรือชมภาพยนตร์ หรือชมวีดีทัศน์ ฯลฯ
            2.ขั้นนักเรียนและครูวางแผนร่วมกันในการปฏิบัติกิจกรรม เริ่มด้วยการกำหนดความมุ่งหมายทั่วไป ความมุ่งหมายเฉพาะ ช่วยกันตั้งปัญหาและแบ่งหัวข้อปัญหา กำหนดกิจกรรมของแต่ละปัญหากำหนดสื่อการสอนที่จะนำไปใช้แก้ปัญหา แล้วจัดแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อทำกิจกรรม และรายงานผลการปฏิบัติงาน
            3.ขั้นลงมือทำงาน เริ่มต้นด้วยการสำรวจและรวบรวมความรู้ต่างๆจากห้องสมุดพิพิธภัณฑ์ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร เอกสาร แบบเรียน ตำรา ร้านค้า ภาพยนตร์ ความสัมพันธ์กับวิชาต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลป์ ฯลฯ
            4.ขั้นเสนอกิจกรรม ได้แก่ การเสนอกิจกรรมด้วยการรายงานผลการปฏิบัติงานโดยวาจาหรือรายงานผลเป็นข้อเขียน การอภิปราย การแสดงละคร การจัดนิทรรศการ การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการเสนอกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์แบบอื่นๆ
            5.ขั้นประเมินผล เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานตามขั้นตอน และจุดประสงค์ของหน่วยโดยพิจารณาความรู้เชิงวิชาการ เจตคติ และความสนใจต่างๆ รวมทั้งคุณสมบัติส่วนตัว เช่น คุณสมบัติด้านการเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย การแสดงความคิดเห็นต่อกลุ่ม และยอมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่ม

ข้อดีของวิธีสอนแบบหน่วย
1. เป็นวิธีการสอนที่ส่งเสริมความถนัดตามธรรมชาติของนักเรียน เพราะการสอนแบบนี้มีกิจกรรมหลายประเภทให้นักเรียนได้เลือกปฏิบัติทำตามที่ถนัดและสนใจ
2. นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการเรียนร่วมกับครู
3. นักเรียนได้รับการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย และได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม
4. เป็นการสอนที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างวิชาต่างๆในหลักสูตร

ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบหน่วย
1. วิธีสอนแบบนี้ต้องใช้เวลามาก
2. ครูผู้สอน ต้องมีแหล่งความรู้ให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างเพียงพอ และหลากหลาย


สรุป
            วิธีการสอนแบบหน่วย เป็นการสอนที่นำเนื้อหาหลายๆวิชามาสัมพันธ์กันเป็นเรื่องเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อนักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า แก้ปัญหาด้วยตนเอง และส่งเสริมการทำงานที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งวิธีการสอนแบบหน่วยจะมี 4 ชนิดคือ หน่วยเนื้อหาวิชา หน่วยประสบการณ์  หน่วยกิจกรรม และหน่วยวิทยากร มีขั้นตอนในการสอนดังนี้ ขั้นนำเข้าสู่หน่วย  ขั้นนักเรียน ครูวางแผนร่วมกันในการปฏิบัติกิจกรรม  ขั้นลงมือทำงาน ขั้นเสนอกิจกรรม   และขั้นประเมินผล

ที่มา
ดวงเดือน เทศวานิช.(2529).หลักการสอนและการเตรียมประสบการณ์วิชาชีพภาคปฏิบัติ. 
            กรุงเทพฯ
:คณะวิชาครุศาสตร์ วิทยาลัยครูพระนคร.
สุชา จันทน์เอม
.(2521).จิตวิทยาในห้องเรียน.กรุงเทพฯ:พีระพัธนา.
http://www.neric-club.com/data.php?page=4&menu_id=76วิธีการสอนแบบหน่วย.เข้าถึงเมื่อ  
            12 กรกฎาคม 2558.